เมื่ออ่านวรรณคดี คำว่า ‘เทวดา’ ‘เทพ’ หรือ ‘เทพธิดา’ หรือ ‘นางฟ้า’ มักจะปะปนอยู่ในเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นนิทานสำหรับเด็ก หรือวรรณคดีชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย บางครั้งถ้าเป็นการแปลก็อาจเกิดความข้องใจขึ้นมาว่า คำว่า angel , god หรือ fairy นี้ ควรแปลว่าเป็นเทวดาประเภทไหน หรือถ้าจะแปลกลับจากไทยเป็นอังกฤษ เช่น พระอินทร์หรือนางฟ้าที่อยู่ในนิทานเด็ก ควรจะใช้คำแปลว่าอะไร ผู้แปลบางคนอาจแปลรวมกันไปหมด โดยเฉพาะแปลจากภาษาอังกฤษเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็นจากคัมภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา หรือนางฟ้าในเรื่องซินเดอเรลลา ก็แปลว่าเทวดาไปหมด ความจริงแล้วฝรั่งเขาแบ่งเทวดาเอาไว้หลายพวก หรือไทยเองก็เช่นกัน ดังจะได้อธิบายต่อไป
เทวดาฝรั่งประเภทแรกที่จะเอ่ยถึง คือเทวดาในคริสต์ศาสนา ผู้ที่นับถือศาสนานี้ย่อมจะนึกภาพออก ภาพวาดมักจะเป็นชายรูปร่างแบบมนุษย์ สวยงาม สวมชุดขาวยาว และมีปีกใหญ่ มันจะมาติดต่อกับมนุษย์เวลาพระผู้เป็นเจ้ามีพระประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งกับมนุษย์ผู้นั้น เทวดาพวกนี้เป็นพวก angel คือพวกที่ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างขึ้นอยู่บนสวรรค์ รับใช้และร้องเพลงสวดสรรเสริญ ภาษาไทยใช้คำว่า “ทูตสวรรค์” ซึ่งมีความหมายเข้ากับเรื่องได้ดี ทูตสวรรค์เหล่านี้บางองค์ก็ได้ชื่อว่า นักบุญ ด้วย เช่น เซนต์กาเบรียล เป็นชื่อโรงเรียนที่รู้จักกันดี
ทูตสวรรค์เหล่านี้มีอยู่ทั้งหมด ๙ ระดับด้วยกัน เดิมในคัมภีร์เก่าของคริสต์ศาสนามีอยู่ ๔ ระดับ คือ Archangels, angels, Cherubims หรือ seraphims แต่ในคัมภีร์ใหม่ที่นักบุญพอลรวบรวมและเรียบเรียงนั้น ได้เพิ่มระดับทูตสวรรค์เข้าไปอีก ๕ ได้แก่ Virtues, Powers, Principalitics, dominions และ thrones ซึ่งทูตสวรรค์อีก ๕ ระดับนี้ทางโรมันคอทอลิก ได้ประกาศรับรองเป็นทางการเมื่อศตวรรษที่สี่
ทูตสวรรค์ที่คนไทยอาจเห็นรูปหรือได้ยินผ่านหูมากก็มี archangels เป็นระดับสูงสุดของทั้ง ๙ ทำหน้าที่คล้ายระดับรัฐมนตรีของสวรรค์ เมื่อเกิดสงครามบนสวรรค์ราว ลูซิเฟอร์คิดกบฏ เทวดาชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ก็นำขบวนไปรบปราบปราม ได้แก่ ไมเคิล เกเบรียล และ ราฟาแอล โดยมีไมเคิลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ลูซิเฟอร์เองก็รวมอยู่ในเทวดาชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ แต่เมื่อแพ้ก็ตกจากสวรรค์สู่นรกกลายเป็นพญามารไป ส่วนอีกสองประเภทที่อาจเคยเห็นกัน ก็ได้แก่เทวดาที่มีลักษณะเหมือนเด็กทารก มีปีกเล็กๆมักอยู่ตามรูปวาดรูปปั้นต่างๆในยุโรป หรือในบัตรอวยพร ถ้าไม่มีธนู ไม่มีคันศร ก็คือ ทูตสวรรค์ ประเภท Cherulim กับ Seraphim ซึ่งเดิมก็มีรูปร่างแบบทูตสวรรค์อื่นๆ แต่จิตรกรสมัยเรเนสซังส์ (ศตวรรษที่ ๑๖)ของยุโรป ได้เขียนให้เป็นทารกไป บางทีจึงสับสนกับคิวปิดกามเทพแห่งตำนานกรีกและโรมัน ซึ่งมีรูปเป็นเด็กเช่นกันหากแต่ถือศร และคำว่า Cherubim นี้ได้กลายมาเป็นคุณศัพท์ หมายถึงเด็กที่หน้าตาน่ารักหรือผู้ที่มีใบหน้ากลม แก้มเป็นพวงเหมือนเด็ก
สำหรับเทวดาไทย หรือพูดให้ถูกเทวดาอินเดียที่ไทยรับมาเป็นไทย เช่น พระอินทร์ พระอาทิตย์ พระอิศวร พระพรหม นั้น ตรงกับคำว่า gods เป็นเทพเจ้า ไม่ใช่ทูตสวรรค์ พระอุมาหรือพระลักษมีนั้น คือ goddesses เป็นเพศหญิงของคำว่า gods เทพเจ้าเหล่านี้ประทับอยู่บนสวรรค์และในที่ต่างๆบนโลกดังจะแบ่งได้ดังนี้
สวรรค์นั้นแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ ฉกามาพจร สวรรค์หกชั้นแรกสำหรับเทพที่ยังเวียนว่ายตายเกิด และเทพผู้ทำหน้าที่ต่างๆให้กับโลก ผู้ที่ตายไปถ้าทำความดีก็ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์หนึ่งในหกนี้ จนหมดบุญ กามนิตและวาสิฏฐีก็ขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ระดับนี้ ชื่อเรียงลำดับนับแต่ต่ำสุดไปจนสูงสุด ก็คือ
๑. จตุมหาราชิก หรือ จตุมหาราช เป็นที่อยู่ของท้าวโลกบาลทั้งสี่ ผู้รักษาทิศทั้งสี่ในโลก
๒. ดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทร์
๓. ยามา
๔. ดุสิต ที่ประทับของพระโพธิสัตว์
๕. นิมมานรดี
๖. ปรนิมมิตวสวตี พญามารที่มาผจญพระพุทธเจ้าอยู่ชั้นนี้ เพราะเป็นผู้ที่ยังสัตว์โลกและผู้มีกิเลสให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ จึงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนือเทวดา เพราะเทวดาเหล่านี้ก็ยังมีกิเลสเหมือนกัน
ส่วนอีกประเภทของสวรรค์ คือ สวรรค์ชั้นพรหม มี ๑๖ ชั้น มีพรหมระดับต่างๆกันล้วนเป็นผู้พ้นจากกิเลส คำว่า พรหมลิขิต ก็คือลิขิตของพระพรหมผู้สร้างโลกและสร้างสวรรค์ทั้งหมดนี้ อยู่คนละแห่งกับพระอินทร์และก็สูงกว่าพระอิศวร ซึ่งประทับบนยอดเขาพระสุเมรุหลังคาโลก ต่ำกว่าสวรรค์ และสูงกว่าพระนารายณ์ ซึ่งอยู่ที่เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) ซึ่งเป็นทะเลบนโลก แต่ในรามเกียรติ์ของไทย ดูจะลดพระพรหมลงต่ำกว่าพระอิศวรเสียอีก
เทวดาฝรั่งอีกประเภท ที่คนไทยเคยอ่านเคยได้ยินกันบ่อย คือพวกที่อยู่ในนิทานสำหรับเด็กที่เรียกว่า เทพนิยาย แปลมาจาก Fairy’s tales ซึ่งหมายถึงเรื่องรวบรวมนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของฝรั่ง โดยมากก็จะมีเทวดาปะปนด้วยเกือบทุกเรื่อง เช่น แม่ทูนหัวของซินเดอเรลลา หรือ นางฟ้าที่สาปเจ้าหญิงนิทรา พวกนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า fairy ภาษาไทยเราแปลว่า เทพ บ้าง เทพธิดา หรือ นางฟ้า ซึ่งพออนุโลมได้ เพราะยังไม่มีใครบัญญัติศัพท์ตรงตัวขึ้นมาใช้ ความจริง เทพ เทพธิดา หรือนางฟ้านี้ ไม่ใช่คำตรงตามความจริงนัก เพราะแฟรี่พวกนี้ไม่ใช่เทวดาและไม่ได้อยู่บนฟ้า หากแต่เป็นอมนุษย์พวกหนึ่งตามความเชื่อของยุโรปทางเหนือ อาจอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร หรือตามบ้านเรือน (ที่ไทยเรามีพวก ผีบ้าน ผีเรือน คล้ายกัน) มีอำนาจวิเศษหายตัวหรือแปลงตัวได้ บางทีก็ช่วยเหลือมนุษย์ เช่น fairy godmother ของซินเดอเรลลา รับเป็นแม่ทูนหัวคอยช่วยเวลานางเอกตกทุกข์ได้ยาก แฟรี่ที่ประทานพรให้เจ้าหญิงนิทราก็เช่นกัน แต่ที่ร้ายก็เช่นแฟรี่ที่สาปให้เจ้าหญิงนิทราให้หลับไปร้อยปี เป็นต้น แฟรี่นี้มีอยู่หลายพวก เช่นเป็นหญิงรูปร่างสวยงามมีปีกคล้ายผีเสื้อ หรือเป็นชายหญิงร่างเล็กเท่าปลายนิ้ว เต้นระบำอยู่ในแสงจันทร์ หรือเป็นผู้ชายตัวเล็ก จมูกแหลมหูแหลม ใส่หมวกแหลมๆและรองเท้าปลายแหลมเช่นกัน
มีผู้สันนิษฐาน ๒ ทาง ถึงรากศัพท์ fairy อย่างแรกคือมาจากภาษาลาตินว่า fata (ฟาตา) หมายถึงเทพชั้นรองๆในตำนานโรมันโบราณ มีหน้าที่ลิขิตชะตาของมนุษย์แต่ละคน ทำนองเดียวกับเทวดาเสวยอายุของไทย อย่างที่สองคือมาจากคำว่า faierie ของฝรั่งเศสหมายถึง มายากร หรือผู้มีอำนาจสะกดคนภายหลังกลายเป็นอมนุษย์ในความคิดฝันของคน เมื่อล่วงเข้ายุคมืดหรือยุคกลางของยุโรป สมัยนั้นผู้คนขึ้นใจทางด้านโชคลาง ไสยศาสตร์ เห็นอะไรที่อธิบายไม่ได้ หรือน่ากลัวหน่อย ก็ยกให้เป็นการกระทำของ แฟรี่ เช่นแสงสว่างดวงๆในป่า ที่ไทยเรียกว่า ผีกระสือ หรือนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ฟอสฟอรัส แฟรี่ที่ปรากฏในวรรณคดีก็มี ‘ฮวนแห่งบอโดซ์’ ซึ่งน.ม.ส.ทรงแปลไว้ในชื่อเดียวกัน และ ‘ฝัน ณ กลางราตรีฤดูร้อน’ ของเชกสเปียร์ เป็นต้น
แฟรี่ของแต่ละประเทศ แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อถือของแต่ละประเทศ ของอังกฤษ คือผู้ช่วยเหลือมนุษย์ ของไอริช คืออมนุษย์ตัวเล็กๆที่ซุกซนชอบแกล้งคนเรียกว่า Leprechan ซึ่งเป็นช่างทำรองเท้าฝีมือเยี่ยมด้วย ของฝรั่งเศสได้แก่แม่ทูนหัวของซินเดอเรลลา เป็นหญิงรูปสวยงาม สะโอดสะอง (หากแต่วอลท์ ดิสนีย์เปลี่ยนรูปไปเป็นหญิงแก่) เรียกว่า เฟ ของเยอรมันเป็นชราที่ฉลาดเฉลียว เรียกว่า ฟี ของสเปนออกจะไปทางแม่มดมากกว่าชาติอื่น ก็เช่นคนแคระในเรื่องสโนไวท์ นับเป็นแฟรี่เหมือนกัน และถ้าใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ‘วิมานคนรู’ (Gnomes's Mobile)ของวอลท์ ดิสนีย์ คงจะจำอมนุษย์ตัวเล็กๆได้ พวกนี้เป็นแฟรี่ เรียกว่า gnomes ไทยแปลว่า คนรู ซึ่งนับว่าถูก เพราะพวกนี้อาศัยอยู่ในดิน
แฟรี่นี้เดิมเป็นพวกใดไม่ปรากฏชัด มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นชนเผ่านีโอลิธิคในยุโรป ซึ่งเป็นชนเผ่าโดดเดี่ยว มีความเจริญมากกว่าชาติอื่น ทำให้เกิดความเชื่อว่ามีอำนาจพิเศษทำอะไรต่างๆได้ เมื่อเล่าสืบต่อๆกันมา ก็กลายเป็นผู้วิเศษไป แต่ก็มีผู้ค้นคว้าว่า น่าจะมาจากความเชื่อทางลัทธิในยุโรปโบราณบูชาเทพเจ้าต่างๆในธรรมชาติมากกว่า เมื่อคริสต์ศาสนาแพร่หลายไปถึง ลบล้างความเชื่อเก่าๆเทพเก่าแก่พวกนี้ก็คลายมนต์ขลังกลายเป็นนิทานเล่าสู่กันฟังไป บวกกับความไม่เข้าใจธรรมชาติ ปรากฏการณ์ต่างๆเช่น ลมพัด หรือน้ำขึ้นน้ำลง ก็ถูกยกไปให้เป็นการกระทำของอมนุษย์พวกนี้
ชื่ออื่นๆของแฟรี่ก็มี เช่น elf (เอลฟ์) pixie (อาศัยตามทุ่งนาทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ) nymph (นางไม้) goblin(อาศัยตามบ้านเรือน) ondine (นางพรายทะเล) lorerei (นางพรายในแม่น้ำไรน์ของเยอรมัน) นางเงือกและแม่มด
วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552
เทวดา’ ‘เทพ’ หรือ ‘เทพธิดา’ หรือ ‘นางฟ้า’
ป้ายกำกับ:
เทพ,
เทพธิดา,
เทวดา,
นางฟ้า,
angels,
Archangels,
Cherubims หรือ seraphims
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น